วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558

จังหวัดชัยนาท

จังหวัดชัยนาท

ประวัติความเป็นมา


 ชัยนาท แปลตามศัพท์ที่มีความหมายว่า ชัยชนะที่มีชื่อเสียงบันลือ เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่ง ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองแพรกศรีราชาใต้ปากลำน้ำเก่าตั้งขึ้นหลังเมืองพันธุมวดี(สุพรรณบุรี)เป็นเมืองหน้าด่านของสุโขทัยสร้างในสมัยพระยาเลอไทยแห่งกรุสุโขทัยระหว่างพ.ศ.๑๘๖๐–๑๘๗๙เมืองนี้จึงได้ชื่อว่า“เมืองแพรก”หรือ“เมืองสรรค์”มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านทางใต้เมื่อกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลงเมืองแพรกได้กลายเป็นเมืองหน้าด่านทางตอนเหนือของกรุงศรีอยุธยาต่อมาได้เกิดชุมชนใหม่ไม่ไกลจากเมือง มีเจ้าสามพระยาเป็นผู้ครองเมือง ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เมืองที่เกิดขึ้นใหม่นี้มีชื่อว่า ชัยนาทในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้ย้ายตัวเองออกจากบริเวณแหลมยางมาตั้งตรงฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนเมืองสรรค์นั้นเสื่อมลงเรื่อยๆเพราะผู้คนได้อพยพมาอยู่ที่ชัยนาทเป็นส่วนใหญ่ ในที่สุดก็กลายเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของชัยนาทเท่านั้น ชัยนาท เป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เคยใช้เป็นที่ตั้งทัพรับศึกพม่าหลายครั้ง และมีชัยชนะทุกครั้งไป จึงเป็นที่มาของชื่อเมืองชัยนาทแห่งนี้
นอกจากชัยนาทจะเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานแต่ปัจจุบันชัยนาทก็มีชื่อเสียงและมีสินค้าด้านหัตถกรรม การจักสาน การปั้น การทอ การทำเครื่องเบญจรงค์ที่มีฝีมือประณีต รูปแบบทันสมัย ราคาย่อมเยา มีตลาดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยฝีมือของชาวบ้านกลุ่มต่างๆ อีกด้วย
ชัยนาทมีเนื้อที่ประมาณ ๒,๔๖๙.๗๔ ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น ๘ อำเภอ คือ อำเภอเมืองชัยนาท อำเภอหันคา อำเภอมโนรมย์ อำเภอสรรคบุรี อำเภอสรรพยา อำเภอวัดสิงห์ อำเภอหนองมะโมง และอำเภอเนินขาม


imagesอาณาเขต


ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดอุทัยธานี และนครสวรรค์
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสิงห์บุรี และสุพรรณบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดนครสวรรค์ และสิงห์บุรี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดอุทัยธานี และสุพรรณบุรี




สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดชัยนาท

อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท

สวนนกชัยนาทเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดชัยนาท เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาพลอง หมู่ที่ ๔ ตำบลเขาท่าพระ ริมถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข ๑) ก่อนถึงตัวเมือง ๔ กิโลเมตร สวนนกชัยนาท มีพื้นที่ ๒๖๐ ไร่ มีกรงนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย

อาคารแสดงพันธุ์ปลาลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
เป็นแหล่งรวบรวมปลาน้ำจืดพันธุ์ต่างๆ และอุโมงค์แก้วใต้น้ำ พบปลาที่ได้ชื่อว่า "ฉลามน้ำจืด" ชมปลาหายากที่สูญพันธุ์ ปลาเศรษฐกิจ ปลาอันตราย ชมห้องมัจฉาวิทยา สหายมัจฉา

ศูนย์วิทยาศาสตร์ ท้องฟ้าจำลอง สวนนกชัยนาท
ศูนย์วิทยาศาสตร์ท้องฟ้าจำลอง สวนนกชัยนาท ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2551 เพื่อพัฒนาด้านการศึกษาและเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนนำมาสู่แนวคิด การจัดทำศูนย์วิทยาศาสตร์ท้องฟ้าจำลอง

วัดธรรมามูลวรวิหาร
เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองชัยนาท สันนิษฐานว่าพระมหาธรรมราชากษัตริย์แห่งราชวงศ์สุโขทัยทรงสร้างวัดนี้ขึ้นในปี พ.ศ.๒๑๒๐ และได้มีการบูรณะในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่บนไหล่เขาธรรมามูลริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

วัดพระบรมธาตุวรวิหาร
เดิมมีนามว่า “วัดพระธาตุ” และมีนามเรียกอีกนามหนึ่งว่า “วัดหัวเมือง” สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจอยู่แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ในองค์พระเจดีย์ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีพุทธาภิเษกของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี
เกิดจากการที่พระชัยนาทมุนี (นวม สุทตโต) อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยนาทและเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ได้เก็บรักษาและรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่พบในเขตจังหวัดชัยนาท และบริเวณใกล้เคียงไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัดเป็นจำนวนมาก

มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ตั้งอยู่เลขที่ ๖๔ ฝายน้ำล้น ตำบลบ้านกล้วย เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้นำในการก่อตั้งร่วมกับคณะบุคคลในวงราชการ และธุรกิจเอกชน

วัดปากคลองมะขามเฒ่า (วัดหลวงปู่ศุข)
ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลมะขามเฒ่า เป็นวัดที่ตั้งอยู่บริเวณปากคลองมะขามเฒ่า (แม่น้ำท่าจีน) แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา สาเหตุที่ว่า “วัดปากคลองมะขามเฒ่า” กล่าวกันว่ามีต้นมะขามใหญ่ต้นหนึ่งขนาด ๓ คนโอบ ขึ้นอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาหน้าวัด วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มีทิวทัศน์ที่สวยงาม

วัดทรงเสวย
ตั้งอยู่เลขที่ ๖๓ บ้านหนองแค หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองน้อย เดิมมีนามว่า “วัดหนองแค” ตามชื่อบ้าน ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๕๑ (รศ.๑๒๗) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จตรวจลำน้ำเก่าโดยทางเรือ ทรงแวะพักเสวยพระกระยาหารที่วัดนี้อย่างเอร็ดอร่อย และได้พระราชทานนามว่า “วัดเสวย”

วัดปทุมธาราม (วัดหนองบัว)
ตั้งอยู่เลขที่ ๑๖๖ หมู่ที่ ๒ ตำบลหนองบัว สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๖๕ เดิมชื่อว่า “วัดหนองบัว” เนื่องจากหมู่บ้านนี้มีหนองน้ำและมีบัวหลวงมากมาย ภายในบริเวณวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูป รูปเหมือนหล่อ หลวงปู่ศุข กรมหลวงชุมพรฯ หลวงพ่อจาด

วัดสิงห์สถิต
ตั้งอยู่เลขที่ ๒ บ้านวัดสิงห์ ในเขตเทศบาลตำบลวัดสิงห์ เป็นวัดตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๕ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในปี พ.ศ. ๒๓๘๖ ชาวบ้านเรียก วัดสิงห์ แต่เดิมบริเวณนี้เคยเป็นป่าคงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ร้าย เช่น สิงโต เมื่อมีหมู่บ้านขึ้นมา เรียก “บ้านสิง” เมื่อสร้างวัดจึงเรียกว่า “วัดสิงห์”

วัดพานิชวนาราม (วัดป่า)
ตั้งอยู่เลขที่ ๙ ถนนจันทนาราม หมู่ที่ ๑ ตำบลวัดสิงห์ ตามประวัติกล่าวว่า ได้สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๓๘๙ ปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างแต่เรียกกันต่อๆ มาว่า “วัดป่า”

เขื่อนเจ้าพระยา
เป็นเขื่อนทดน้ำที่ใหญ่ที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ หมู่ที่ ๓ ตำบลบางหลวง ลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก เรือขนาดใหญ่สามารถผ่านเข้าออกได้ บริเวณเขื่อนมีความสวยงามตามธรรมชาติ ช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ จะมีฝูงนกเป็ดน้ำนับหมื่นตัวมาอาศัยหากินอยู่ในแม่น้ำบริเวณเหนือเขื่อน

อนุสาวรีย์ขุนสรรค์
ตั้งอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอสรรคบุรี ขุนสรรค์ “วีรบุรุษแห่งลุ่มแม่น้ำน้อย” เป็นหนึ่งในผู้นำชาวบ้านบางระจันที่ต่อสู้กับพม่าด้วยความกล้าหาญ เพื่อรักษาแผ่นดินไทยรบชนะพม่าถึง ๗ ครั้ง เป็นไทยอาสาป้องกันชาติคนแรกของอำเภอสรรคบุรี เมื่อ ๒๒๓ ปีก่อน

วัดมหาธาตุ
ตั้งอยู่หมู่ ๘ ตำบลแพรกศรีราชา เดิมชื่อว่าวัดพระธาตุ หรือวัดหัวเมือง
เป็นวัดเก่าแก่โบราณคู่เมืองแพรกหรือเมืองสรรค์
ที่ก่อสร้างขึ้นมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา
มีโบราณสถานที่น่าสนใจและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์

วัดสองพี่น้อง
ตั้งอยู่เลยวัดมหาธาตุไปประมาณ ๓๐๐ เมตร ตามประวัติกล่าวว่า เจ้าอ้าย เจ้ายี่ เจ้าสาม เป็นพี่น้องกัน เจ้าสามยุยงให้เจ้าอ้ายและเจ้ายี่รบกันเพื่อแย่งราชสมบัติ เจ้าอ้ายและเจ้ายี่เสียชีวิตทั้งคู่ เจ้าสามจึงได้ครองเมืองและสร้างปรางค์แด่เจ้าอ้าย สร้างเจดีย์แด่เจ้ายี่ สันนิษฐานว่าสร้างก่อนกรุงศรีอยุธยา ๖๐๐ ปี

วัดพระยาแพรก
เป็นวัดร้างตั้งติดกับวัดมหาธาตุ มีโบราณสถานที่หลงเหลืออยู่ภายในวัดได้แก่ เจดีย์ก่ออิฐถือปูนรูปแปดเหลี่ยมทรงสูงสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นเจดีย์ที่มีความงดงามมากอีกองค์หนึ่ง

วัดโตนดหลาย
ตั้งอยู่ในเขตตำบลแพรกศรีราชา อยู่ห่างจากวัดสองพี่น้องประมาณ ๓๐๐ เมตร มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือทรงดอกบัว เป็นศิลปะแบบสุโขทัย เจดีย์มีลักษณะทรงสูงย่อมุมคล้ายกับพระปรางค์ตั้งอยู่บนฐานซ้อนเรียงกันเป็นชั้น พ้นจากฐานเป็นหน้ากระดานฐานบังคว่ำบัวหงายรองรับแท่งสี่เหลี่ยมย่อมุมตรงกลาง

วัดพระแก้ว
เป็นวัดที่มีโบราณสถานสำคัญวัดหนึ่ง มีองค์เจดีย์สี่เหลี่ยมที่มีความงดงาม ตั้งอยู่หมู่ ๑๐ ตำบลแพรกศรีราชา ห่างจากตัวเมืองชัยนาทประมาณ ๒๓ กิโลเมตร ภายในวัดมีเจดีย์แบบละโว้ทรงสูงผสมกับเจดีย์ทวาราวดีตอนปลาย ฐานเรือนธาตุแบบลดท้องไม้ เป็นศิลปะสมัยสุโขทัยผสมกับสมัยศรีวิชัย

วัดธรรมิกาวาส (วัดค้างคาว)
ตำบลโพงาม เป็นวัดที่มีสวนลิงและปลาอาศัยอยู่ในบริเวณวัดเป็นจำนวนมาก วัดแห่งนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่สำคัญคือ รูปหล่อหลวงพ่อเฒ่า เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงอีกรูปหนึ่งของลุ่มแม่น้ำน้อย มีวัตถุมงคลที่เลื่องลือคือ ผ้าแดงและตระกรุดโทน

วัดไกลกังวล (เขาสารพัดดีศรีเจริญธรรม)
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชี่ยน ห่างจากตัวเมืองชัยนาท ๔๘ กิโลเมตร บริเวณวัดมีนกยูง กวาง บนยอดเขาของวัดยังคงปรากฏซากการสร้างโบสถ์และรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ หากยืนอยู่บนยอดเขาแห่งนี้จะเห็นทัศนียภาพธรรมชาติที่สวยงาม ทุกปีช่วงหลังออกพรรษาจะมีงานประเพณีตักบาตรเทโว

วัดพิชัยนาวาส (วัดบ้านเชี่ยน)
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชี่ยน ห่างจากตัวเมืองชัยนาท ๓๘ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๓๒๑๑ กิโลเมตรที่ ๒-๓ เป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง มีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ปี ภายในพระอุโบสถซึ่งสร้างไว้กลางสระน้ำ มีพระประธานคือ “หลวงพ่อโต” เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์

ป่าเขาราวเทียนทอง
ป่าชุมชนเขาราวเทียนทองหมู่บ้านเขาราวเทียนทองตั้งอยู่ตำบลเนินขาม หมู่ที่ ๑๐ กิ่งอำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเมืองเป็นระยะทาง ๖๐ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากอำเภอหันคาเป็นระยะทาง ๑๘ กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด ๗,๘๐๐ ไร่

หมู่บ้านวัฒนธรรมลาวครั่งบ้านกุดจอก
หมู่บ้านกุดจอกแห่งนี้ ปัจจุบันมีชาวไทยเชื้อสายลาวครั่งอาศัยอยู่ประมาณ 200 หลังคาเรือน อาชีพหลักคือเกษตรกรรม ทำนา มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีชนชาติลาวครั่งดั้งเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น มีภูมิปัญญาที่โดดเด่นคือ การทอผ้าซิ่นตีนจก ที่มีลวดลายเฉพาะไม่เหมือนใคร

วัดท่านจั่น
ตั้งอยู่เลขที่ ๕๖ หมู่ที่ ๓ บ้านท่านจั่น ตำบลหนองขุ่น สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นเป็นวัดประมาณปี พ.ศ. ๒๓๕๐ ภายในบริเวณวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานภายในอุโบสถ นามหลวงพ่อจั่น พระพุทธรูปคู่บ้านที่ชาวหนองขุ่น และใกล้เคียงให้ความนับถือ

วัดบ่อแร่
ตั้งอยู่เลขที่ ๑ บ้านบ่อแร่ ตำบลบ่อแร่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายสร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ มีนามตามชื่อบ้าน แรกเริ่มสร้างวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ตรงกับปีระกา พระอาจารย์เนียม เจ้าอาวาสวัดสิงห์สถิต ได้ร่วมกับชาวบ้านบ่อแร่ ดำเนินการจัดสร้างวัดนี้ขึ้น

วัดดอนตูมกมลาวาส
ตั้งอยู่บ้านดอนตูม หมู่ที่ ๕ ตำบลหนองบัว ได้รับแต่งตั้งให้เป็นวัดตั้งแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๗ อุโบสถมีน้ำล้อมรอบ นับเป็นสีมาน้ำแห่งเดียวในจังหวัดชัยนาท

วัดสุวรรณโคตรมาราม (วัดคลองมอญ)
ตั้งอยู่เลขที่ ๑๓๓ บ้านคลองมอญ หมู่ที่ ๔ ตำบลมะขามเฒ่า สร้างขึ้นเป็นวัดประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๖ เดิมมีนามว่า “วัดคลองมอญ” ตามชื่อบ้าน บริเวณนั้นเดิมเป็นป่าไม้หนาแน่น ชาวบ้านได้ร่วมใจกันจัดการสร้างวัดนี้ขึ้นมา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้เปลี่ยนนามใหม่เป็น “วัดคลองบุญ”

วัดกรุณา
เป็นวัดที่อยู่ใกล้เขื่อนเจ้าพระยา ตรงข้ามบ้านรับรองเขื่อนเจ้าพระยา ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวชัยนาทเคารพนับถือมากคือ พระพุทธมหาศิลาหรือหลวงพ่อหินใหญ่ เป็นพระพุทธรูปศิลาทรายขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดชัยนาท

วัดอินทาราม (ตลุก)
ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่ ๒ ตำบลตลุก เป็นวัดโบราณอายุกว่า ๑๐๐ ปี ในวัดมีถาวรวัตถุมีคุณค่า คือ หอระฆังคู่ เก๋งจีนโบราณอายุกว่า ๑๐๐ ปี และหอพระไตรปิฎก กว้าง ๘ เมตร ยาว ๙ เมตร สร้างไว้กลางสระน้ำลักษณะเป็นทรงไทยโบราณ




(ภาพและข้อมูลเว็บไซล์)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น